บบส

คำถามที่พบบ่อย : บบส
Q : 1. บริษัทต้องตรวจสอบพอร์ตรายชื่อลูกหนี้ที่รับซื้อรับโอนมาจากธนาคารหรือสถาบันการเงินกับรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดหรือไม่
การตรวจสอบรายชื่อพอร์ตรายชื่อลูกหนี้กับรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี ดังต่อไปนี้ 1. กรณีพอร์ตรายชื่อลูกหนี้ที่รับซื้อรับโอนมาจากธนาคารหรือสถาบันการเงินไม่มีหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินค้ำประกันติดมากับการซื้อหนี้ บริษัทฯ ยังไม่ต้องดำเนินการตรวจสอบพอร์ตรายชื่อลูกหนี้ทั้งหมดที่รับซื้อโอนมาจากธนาคารหรือสถาบันการเงินกับข้อมูลรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด เนื่องจากลูกหนี้ที่อยู่ในพอร์ตรายชื่อลูกหนี้ดังกล่าวยังไม่ได้เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้หรือประนอมหนี้กับบริษัทฯ จึงยังไม่มีสถานะเป็นลูกค้าของบริษัทฯ แต่หากลูกหนี้ในพอร์ตรายชื่อลูกหนี้ดังกล่าวข้างต้น แสดงความประสงค์ที่จะเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้หรือประนอมหนี้กับบริษัทฯ บริษัทฯ จะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อมูลของลูกหนี้ดังกล่าวกับข้อมูลรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดก่อนที่จะอนุมัติการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจในการปรับโครงสร้างหนี้ และต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงให้ครบถ้วน ทั้งนี้ บริษัทฯ อาจกำหนดให้มีการตรวจพอร์ตรายชื่อลูกหนี้กับรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดก็ได้ตามแต่นโยบายที่บริษัทฯ กำหนด 2. กรณีพอร์ตรายชื่อลูกหนี้ที่รับซื้อรับโอนมาจากธนาคารหรือสถาบันการเงินมีหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินค้ำประกันติดมากับการซื้อหนี้ บริษัทฯ ต้องตรวจสอบพอร์ตรายชื่อลูกหนี้ทั้งหมดที่รับซื้อโอนมาจากธนาคารหรือสถาบันการเงินกับข้อมูลรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด และหากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนดรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย (แบบ ปปง. 1-03) มายังสำนักงาน ปปง. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด (ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และแนวทางปฏิบัติ เรื่อง การรายงานธุรกรรม) และแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการของบุคคลที่ถูกกำหนดตามแบบ ปกร 03 (ตามมาตรา 8 และมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559) และเมื่อบุคคลที่ถูกกำหนดดังกล่าวข้างต้น แสดงความประสงค์ที่จะเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้หรือประนอมหนี้กับบริษัทฯ ให้บริษัทฯ ดำเนินการตาม Q&A ที่ 2.
Q : 2. หากบริษัทตรวจพอร์ตรายชื่อลูกหนี้ที่รับซื้อรับโอนมาจากธนาคารหรือสถาบันการเงินกับรายชื่อพบว่าเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดแล้วพบว่ามีลูกหนี้ในพอร์ตบางรายติดรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด บริษัทจะต้องระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินใด ๆ หรือต้องแจ้งข้อมูลต่อสำนักงาน ปปง. หรือไม่
หากบริษัทฯ ดำเนินการตรวจสอบพอร์ตรายชื่อลูกหนี้ที่รับซื้อรับโอนมาจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยลูกหนี้ดังกล่าวยังไม่ได้เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้หรือประนอมหนี้กับบริษัท (ลูกหนี้ยังไม่มีสถานะเป็นลูกค้าของบริษัทฯ) แล้วพบว่า มีบุคคลในพอร์ตรายชื่อลูกหนี้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนด บริษัทฯ ต้องรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย (แบบ ปปง. 1-03) มายังสำนักงาน ปปง. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด (ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และแนวทางปฏิบัติ เรื่อง การรายงานธุรกรรม) และหากบริษัทฯ ตรวจสอบพบว่าลูกหนี้ที่เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดดังกล่าวมีหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินค้ำประกันที่ติดมากับการซื้อหนี้ดังกล่าวมาจากธนาคารหรือสถาบันการเงินด้วยนั้น ตามมาตรา 8 และมาตรา 17 แห่ง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลที่ครอบครองทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนดดำเนินการระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนด หรือของผู้กระทำการแทนหรือตามคำสั่งของผู้นั้น หรือของกิจการภายใต้การครอบครองหรือควบคุมของผู้นั้น ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม และแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินให้สำนักงาน ปปง. ทราบ โดยไม่ชักช้าตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการของบุคคลที่ถูกกำหนดตามแบบ ปกร 03 ด้วยเช่นกัน และเมื่อบุคคลที่ถูกกำหนดดังกล่าวข้างต้น แสดงความประสงค์ที่จะเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้หรือประนอมหนี้กับบริษัทฯ และบริษัทฯ ต้องการที่จะปรับโครงสร้างหนี้กับลูกค้าหนี้ที่เป็นบุคคลที่ถูกกำหนด โดยบริษัทฯ สามารถดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อดำเนินความสัมพันธ์ในการปรับโครงสร้างหนี้ และรับชำระหนี้จากลูกค้าบุคคลที่ถูกกำหนด โดยใช้สิทธิตามมาตรา 13 (4) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 และแจ้งข้อมูลให้สำนักงาน ปปง. ทราบเกี่ยวกับผู้ที่เป็นลูกค้าซึ่งอยู่ในรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด ตามแบบ ปกร 04 ทั้งนี้ รายละเอียดการดำเนินการเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 ภาคผนวก แผนภาพและข้อแนะนำกรณีเกิดปัญหาจากการดำเนินการกับบุคคลที่ถูกกำหนด ข้อ (4.7)
Q : 3. ลูกหนี้จากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ จะมีสถานะเป็นลูกค้าเมื่อใด
1. กรณีลูกหนี้ที่ขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยตกลงผ่อนชำระหนี้แบ่งจ่ายเป็นรายงวดกับบริษัทฯ ถือว่าเข้าคำนิยามของคำว่า “ลูกค้าที่สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ” ดังนั้น บริษัทฯ จะต้องดำเนินการจัดให้ลูกค้าที่สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจแสดงตน เมื่อลูกค้ามีการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทฯ ในครั้งแรก กล่าวคือ เมื่อลูกค้าตกลงขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทฯ 2. กรณีลูกหนี้ที่ขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยขอชำระปิดหนี้ในครั้งเดียว ถือว่าเข้าคำนิยามของคำว่า “ลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราว” ดังนั้น บริษัทฯ จะต้องดำเนินการจัดให้ลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวแสดงตน เมื่อมีการทำธุรกรรมที่มีมูลค่าตั้งแต่ 100,000บาท ขึ้นไป ไม่ว่าครั้งเดียวหรือหลายครั้งที่มีร่องรอยความต่อเนื่อง ซึ่งมีมูลค่ารวมกันตั้งแต่ 100,000บาท ขึ้นไป กล่าวคือ เมื่อลูกค้ามาทำธุรกรรมขอชำระปิดหนี้ในครั้งเดียว ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 100,000 บาท ขึ้นไป รวมทั้งบริษัทฯ จะต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 ทั้ง 2 กรณีตามเกณฑ์ข้างต้นด้วย
Q : 4. กรณีคดีอยู่ในชั้นศาลและก่อนชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ลูกหนี้ติดต่อขอทำข้อตกลงชำระหนี้ เพื่อให้ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้จะถือว่าเป็นการทำธุรกรรม และจะต้องทำ KYC กับลูกค้าด้วยหรือไม่
กรณีนี้ ลูกหนี้จะต้องมีการดำเนินการตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คือ การชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นการขอแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ หรือ การขอจ่ายครั้งเดียว จึงถือว่าเข้านิยามของคำว่า “การสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ” ในกรณีที่ลูกหนี้มีการชำระหนี้โดยขอแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ หรือเข้าคำนิยามของคำว่า “การทำธุรกรรมเป็นครั้งคราว” ในกรณีที่ลูกหนี้มีการชำระหนี้ในครั้งเดียว ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ในการจัดให้ลูกค้าแสดงตนตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วิธีการแสดงตนของลูกค้าสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ดังนี้ 1. กรณีลูกค้าที่สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ บริษัทฯ ต้องจัดให้ลูกค้าแสดงตนทุกครั้งก่อนการทำธุรกรรม เว้นแต่ลูกค้าได้แสดงตนไว้ก่อนแล้ว 2.กรณีลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราว บริษัทฯ ต้องจัดให้ลูกค้าแสดงตนทุกครั้งก่อนทำธุรกรรมที่มีมูลค่าตั้งแต่ 100,000 บาท ขึ้นไป ไม่ว่าครั้งเดียวหรือหลายครั้งที่มีร่องรอยความต่อเนื่อง ซึ่งมีมูลค่ารวมกันตั้งแต่ 100,000 บาท ขึ้นไป รวมถึงบริษัทฯ ต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 ทั้ง 2 กรณีตามเกณฑ์ข้างต้นด้วย ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้ลูกค้าแสดงตนและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า เนื่องจากบริษัทฯ ยังไม่เริ่มสร้างสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือเริ่มทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวกับลูกค้า จะมีเฉพาะกรณี ดังนี้ 1. กรณีลูกหนี้ที่มีหลักประกัน ที่บริษัทฯ ไม่สามารถที่จะติดต่อลูกหนี้เพื่อมาเจรจาหรือปรับโครงสร้างหนี้ได้ และบริษัทฯ ได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ต่อศาล และศาลมีคำสั่งพิพากษาให้ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อขายทอดตลาด โดยเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี 2 กรณีลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ที่บริษัทฯ ไม่สามารถที่จะติดต่อลูกหนี้เพื่อมาเจรจาหรือปรับโครงสร้างหนี้ได้ และบริษัทฯ ได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ต่อศาล โดยศาลได้มีคำสั่งพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการสืบทรัพย์ของลูกหนี้ เพื่อยึดทรัพย์ของลูกหนี้ขายทอดตลาด โดยเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี
Q : 5. ในขั้นตอนการเจรจาหลังศาลพิพากษาแล้ว ทั้งในกรณีที่ลูกหนี้เจรจาขอชำระหนี้ตามคำสั่งศาลพิพากษาฝ่ายเดียวที่ให้ชำระทั้งก้อน แต่ลูกหนี้ติดต่อบริษัทฯ ขอแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ และกรณีลูกหนี้ขอส่วนลดบางส่วน (ขอชำระน้อยกว่าคำสั่งศาล) อาจจะจ่ายครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวด ๆ โดยทั้ง 2 กรณีนี้ บริษัทฯ จะต้องทำ KYC หรือไม่
ลูกหนี้ได้มีการติดต่อบริษัทฯ เพื่อขอชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาล ไม่ว่าจะเป็นการขอแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ หรือ ขอชำระหนี้น้อยกว่าคำสั่งศาล (อาจจะจ่ายครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวด ๆ) นั้น กรณีนี้ ถือว่าเข้านิยามของคำว่า “การสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ” ในกรณีที่ลูกหนี้มีการชำระหนี้โดยขอแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ หรือเข้าคำนิยามของคำว่า “การทำธุรกรรมเป็นครั้งคราว” ในกรณีที่ลูกหนี้มีการชำระหนี้ในครั้งเดียว ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ในการจัดให้ลูกค้าแสดงตนตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง วิธีการแสดงตนของลูกค้าสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา16 ดังนี้ 1.กรณีลูกค้าที่สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ บริษัทฯ ต้องจัดให้ลูกค้าแสดงตนทุกครั้งก่อนการทำธุรกรรม เว้นแต่ลูกค้าได้แสดงตนไว้ก่อนแล้ว 2.กรณีลูกค้าที่ทำธุรกรรมเป็นครั้งคราว บริษัทฯ ต้องจัดให้ลูกค้าแสดงตนทุกครั้งก่อนทำธุรกรรมที่มีมูลค่าตั้งแต่ 100,000บาท ขึ้นไป ไม่ว่าครั้งเดียวหรือหลายครั้งที่มีร่องรอยความต่อเนื่อง ซึ่งมีมูลค่ารวมกันตั้งแต่ 100,000 บาท ขึ้นไป รวมถึงบริษัทฯ ต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563ทั้ง 2 กรณีตามเกณฑ์ข้างต้นด้วย ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้ลูกค้าแสดงตนและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า เนื่องจากบริษัทฯ ยังไม่เริ่มสร้างสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือเริ่มทำธุรกรรมเป็นครั้งคราวกับลูกค้า จะมีเฉพาะกรณี ดังนี้ 1.กรณีลูกหนี้ที่มีหลักประกัน ที่บริษัทฯ ไม่สามารถที่จะติดต่อลูกหนี้เพื่อมาเจรจาหรือปรับโครงสร้างหนี้ได้ และบริษัทฯ ได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ต่อศาล และศาลมีคำสั่งพิพากษาให้ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อขายทอดตลาด โดยเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี 2.กรณีลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ที่บริษัทฯ ไม่สามารถที่จะติดต่อลูกหนี้เพื่อมาเจรจาหรือปรับโครงสร้างหนี้ได้ และบริษัทฯ ได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ต่อศาล โดยศาลได้มีคำสั่งพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการสืบทรัพย์ของลูกหนี้ เพื่อยึดทรัพย์ของลูกหนี้ขายทอดตลาด โดยเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี